หัวข้อเรื่องที่วิจัย การพัฒนาการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ในตนเองตามแนวจิตตปัญญาศึกษา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ชื่อผู้ศึกษา นางสาวจิรัฐา โนยราษฎร์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ หน่วยงานที่สังกัด เทศบาลนครสกลนคร จังหวัดสกลนคร สถานที่ทำงาน โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาล ๓ “ยุติธรรมวิทยา” ปีที่วิจัย 2561 บทคัดย่อ จิตตปัญญาศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจ บ่มเพาะความเปิดกว้างอ่อนน้อม ถ่อมตน เปิดรับต่อความหลากหลาย ผ่านประสบการณ์ตรงอย่างกล้าเผชิญ และน้อมนำเอาประสบการณ์มาสู่ใจอย่างใคร่ครวญให้เกิดการตระหนักรู้ เกิดความรักและเข้าใจตนเองสู่การพัฒนาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล วิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างความรักและเข้าใจตนเองตามแนวจิตตปัญญาศึกษา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 2) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเองตามแนวจิตตปัญญาศึกษา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 วิธีการวิจัยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเป็นครูผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 1 คน นักเรียน จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน แบบสังเกตพฤติกรรมการสอนในชั้นเรียน แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน แบบบันทึกการสัมภาษณ์นักเรียน และแบบบันทึกการเรียนรู้ของนักเรียน (อนุทิน) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณคือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการพรรณาวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า 1. นักเรียนที่เรียนรู้ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษามีผลคะแนนเฉลี่ยร้อยละจากการปฏิบัติใบกิจกรรมในแต่ละวงจรคือ วงจรที่ 1 คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 92.00 วงจรที่ 2 คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 92.60 ซึ่งอยู่ในระดับดีมาก และนักเรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน นักเรียนสามารถควบคุมตนเอง สร้างแรงจูงใจ รู้จักและเข้าใจตนเอง ยอมรับตนเองและผู้อื่น มีความเมตตากรุณา เกิดความคิด ความรู้สึก มีความเชื่อ ทัศนคติ การมองโลกและชีวิตที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งในแง่การดำเนินชีวิตและการปฏิบัติต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องกับวัย วุฒิภาวะ ความพร้อม และมีความเชื่อมั่นในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง รวมถึงต้องการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นได้ปฏิบัติตามมากขึ้น 2. นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเองโดยนักเรียนมีความรู้จากการเรียนรู้ และการปฏิบัติกิจกรรม สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชนต่อตนเองและต้องการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นได้ปฏิบัติตาม เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจสู่การพัฒนาความรักความเมตตา ทำความเข้าใจด้านในของตนเอง และมีจิตสำนึกที่ดีงาม ตระหนักถึงภาระหน้าที่ของตนเองที่ต้องปฏิบัติสู่การพัฒนาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ รวมทั้งสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุลอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข